ไทยติดท็อป3 ป่วย”ไตเรื้อรัง”

Written on:February 15, 2016
Comments
Add One

ไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ8ล้านรายและล้างไตปีละ7หมื่นคน ติดอันดับ1ใน3ของอาเซียน

วันนี้ (15 ก.พ.59) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย ในการแถลงข่าวการจัดกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม ประจำปี 2559 โดยนพ.ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน หรือประมาณ 17% ของประชากรไทย โดยครึ่งหนึ่งพบว่ามาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง หากเข้าสู่ระยะที่ 5 หรือระยะสุดท้ายต้องรักษาด้วยการล้างไต

โดยปัจจุบันมีคนไข้ล้างไตประมาณ 7 หมื่นคน เป็นผู้ป่วยล้างไตรายใหม่ปีละ 7-8 พันราย ส่วนเปลี่ยนไตรักษาทำได้ปีละ 500 คน ดังนั้นนโยบายของสธ.ในปีนี้คือการชะลอความเสื่อมของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังให้เข้าสู่การล้างไตที่ช้าลง โดยเฉพาะผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะที่ 3-4 ซึ่งมีประมาณ 3-4 ล้านคน การชะลอความเสื่อมของไตสามารถทำได้โดยการควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะพฤติกรรมการรับประทานอาหารรสเค็มมากๆ ซึ่งคนไทยบริโภคโซเดียมสูงเกินค่าที่กำหนดขององค์การอนามัยโลกถึง 2 เท่า หรือประมาณ 4,350 มิลลิกรัมต่อวัน

ขณะที่ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตติดอันดับ 1 ใน 3 ของอาเซียนคือ มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย ส่วนอาการของโรคไตสังเกตง่ายๆ คือ อาการบวมคือ บวมทั้งตัว ระยะแรกอาจบวมเพียงหนังตาและหน้า ต่อมาจะมีการบวมที่ขาและเท้าทั้งสองข้าง เกิดจากการมีน้ำและเกลือเพิ่มขึ้นในร่างกายเพิ่มขึ้น จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจ อย่างไรก็ตาม ที่น่าห่วงคือโรคไตเรื้อรังจะนำมาซึ่งโรคหัวใจ โดยพบว่าคนเป็นโรคไตเรื้อรังอาจเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 30 เท่า การป้องกันไตเสื่อมระยะสุดท้ายจึงเป็นการรักษาหัวใจไปด้วย

ด้านผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานคณะทำงานการจัดงานวันไตโลก กล่าวว่า เมื่อพูดถึงโรคไตคนอาจคิดว่าเป็นโรคที่เกิดในผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป โรคไตจึงเกิดในเด็กได้ด้วย หากไม่รักษาป้องกันอาจทำให้สู่ภาวะไตวายระยะสุดท้ายได้ อย่างอาหารญี่ปุ่นและอาหารเกาหลีที่ปัจจุบันเป็นที่นิยมกัน เนื้อที่น้ำมาหมักก็มีการใช้ซอสปรุงรส เกลือและผงปรุงรสมาหมัก ทำให้อุดมไปด้วยความเค็ม ขณะเดียวกันเมื่อกินก็มีการจิ้มน้ำจิ้มร่วมด้วย ซึ่งในน้ำจิ้มก็มีปริมาณโซเดียมที่สูงอยู่แล้ว ทำให้คนญี่ปุ่นและเกาหลีปัญหาเรื่องโรคไตมาก โดยความเค็มจะมากกว่าอาหารปกติ 50 เท่า ขณะที่อาหารแช่แข็งที่ขายตามร้านสะดวกซื้อก็มีความเค็มมากกว่าอาหารปกติ 30%

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมงาน วันไตโลกและการจัดงานสัปดาห์วันไตโลก ประจำปี2559 ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 13 มี.ค.59 ที่เซ็นทรัลเวิลด์ จึงจัดภายใต้คำขวัญ “โรคไตเป็นได้ตั้งแต่เด็ก รู้แต่เล็กป้องกันได้” เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยเด็กเป็นโรคไตจำนวนมากและเพิ่มมากขึ้นทุกปี สาเหตุคือการรับประทานเค็มในเด็กเกินพอดี เช่น ขนมขบเคี้ยว ขนมแปรรูป เมื่อรับประทานแล้วทำให้เด็กไม่อยากทานข้าว มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ไตทำงานหนักขึ้นเป็นสาเหตุของภาวะเสี่ยง จึงขอฝากผู้ปกครองให้ดูแลเรื่องอาหารการกินรับประทานเค็มแต่พอดี โดยจะรณรงค์ให้ลดการรับประทานเค็มทีละน้อยให้เหลือต่ำกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจะลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้อย่างน้อย 10% ทั้งนี้ภายงานจะมีการตรวจสุขภาพ ตรวจปัสสาวะ ตรวจวัดความดันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ด้วย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

ผศ.นพ.พรชัย กิ่งวัฒนกุล ประธานชมรมโรคไตเด็กแห่งประเทศ กล่าวว่า เด็กทั่วโลกที่เข้าสู่ภาวะไตวายจนต้องล้างไตฟอกเลือดรายใหม่มีประมาณ 20-40 คน/ล้านประชากร ส่วนประเทศไทยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีประมาณ 14 ล้าน เข้าสู่การล้างไตประมาณ 200-300 คน โดยเด็กเสียชีวิตด้วยโรคไตประมาณ 5 รายต่อปี โดยพบว่าเด็กป่วยด้วยโรคไตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างคลินิกไตเด็กของ รพ.จุฬาลงกรณ์ เมื่อ 30 ปีก่อนมีผู้ป่วยประมาณ 30 คน ปัจจุบันพบมากถึง 120-150 คน ทั้งนี้ การรู้ว่าเด็กป่วยโรคไตตั้งแต่ระยะแรกจะป้องกันไม่ให้ไตวายเรื้อรังในผู้ใหญ่ได้ อย่างไรก็ตาม โรคไตในเด็กนั้นมีหลายอย่าง

ส่วนหนึ่งจะไตพิการแต่กำเนิด บางคนอาจไตเล็กผิดปกติ ไตฝ่อ ซึ่งมักไม่แสดงอาการ วินิจฉัยยาก แต่ที่พบมักคือการติดเชื้อทางปัสสาวะ ดังนั้นการสังเกตอาการจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบที่มีไข้สูงเพียงอย่างเดียว กุมารแพทย์จึงต้องตรวจว่ามีการติดเชื้อทางปัสสาวะหรือไม่ และมีปัญหาไตผิดปกติหรือไม่

ผศ.นพ.พรชัย กล่าวว่า ส่วนเด็กอายุ 2-3 ขวบ อาจเป็นไตบวม ขณะที่เด็กวัยประถม อาจจะมีปัสสาวะแดง ความดันโลหิตสูง ดังนั้นการป้องกันที่ดีคือการสังเกตอาการบุตรหลานว่าเจริญเติบโตผิดปกติหรือไม่ ส่วนสูงน้ำหนักเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ ปัสสาวะพุ่งดีหรือไม่ ปัสสาวะเล็ด ราด แสบคันหรือไม่ ทำความสะอาดส่วนล่างดีหรือไม่ หากสงสัยขอให้ไปพบกุมารแพทย์ตรวจปัสสาวะ ตรวจความดัน รวมถึงอัลตราซาวนด์ว่ามีโรคไตซ่อนอยู่หรือไม่ เนื่องจากเด็กบอกความผิดปกติเองไม่ได้ซึ่งสามารถตรวจได้ใน รพ.จังหวัด

 

ขอบคุณที่มาและภาพประกอบจาก : TNN24


   ข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ


อลังการงานแต่ง“ชมพู่-น็อต”เลิศหรูราวเทพนิยาย

สพฉ.แนะดูบอลโลกอย่าหักโหมเสี่ยงหัวใจวาย

ชาวประมงสหรัฐฯช่วยฉลามบาดเจ็บออกลูก20ตัว

นายกฯจ่อทำบ้านกันลมแก้ภัยหนาวแบบยั่งยืน

ตร.สตูล ยึดบุหรี่เถื่อนมูลค่า2.4ล้าน ติดชายแดนมาเลเซีย

ญี่ปุ่นเกิดหิมะตกหนักสุดในรอบกว่า50ปี

Leave a Comment

Your email address will not be published.