ปธ.ทีดีอาร์ไอหวังนายกฯสั่งเดินหน้าประมูล 4G หากล่าช้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศจะเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านและสวนทางนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล
วันนี้(15 มี.ค.58) นายสมเกียรติ ตั้งกิจวนิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลชุดชั่วคราว ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 18 มีนาคมนี้ หวังว่าจะเกิดความชัดเจนในการประมูล 4G โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะใช้โอกาสดังกล่าวประกาศเลิกคำสั่งให้ชะลอการประมูลคลื่น 4G และส่งสัญญาณให้ กสทช. ดำเนินการจัดประมูลคลื่นโดยเร็ว ในกรณีที่ยังไม่อนุญาตให้มีการประมูล 4G ประชาชนจะได้ทราบเหตุผลชัดเจนว่าการประมูล 4G โดยเร็วนั้นจะก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศอย่างไร จึงสมควรต้องชะลอต่อไป
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลประกาศนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลเป็นการส่งสัญญาณดีมากและเป็นการประกาศนโยบายที่ออกมาถูกที่และถูกเวลา อย่างไรก็ตาม ปัญหา คือ มาตรการส่วนใหญ่ของรัฐบาลที่กำหนดไม่ได้ช่วยส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจดิจิตอล เพราะมุ่งใช้กลไกภาครัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อน ขณะที่ละเลยกลไกตลาด ตลอดจนไม่มีมาตรการลดอุปสรรคต่าง ๆ ในการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ท่าทีของ คสช. และรัฐบาลต่อการจัดสรรคลื่น 4G ยังสวนทางกับการมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิตอลแบบใหม่ โดย คสช. มีคำสั่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชะลอการประมูลคลื่น 4G ออกไปถึง 1 ปี โดยไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจนในการมีคำสั่งดังกล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวว่า การประมูลคลื่น 4G ล่าช้า ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในตลาดโทรคมนาคมไทย นักวิเคราะห์หลักทรัพย์เคยวิเคราะห์ว่าผู้ประกอบการที่ได้ประโยชน์จากการประมูลที่ล่าช้าออกไป คือ True Move ขณะที่คู่แข่งอีก 2 รายเสียประโยชน์ ที่สำคัญการประมูลคลื่นล่าช้าก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อคนไทยที่เสียโอกาสในการได้ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชา ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศต้องล่าช้าออกไป ซึ่งขัดขวางนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ทั้งนี้ ระหว่างเวลาที่ คสช. ให้ชะลอการประมูลคลื่น 4G ออกไปนั้น ไม่ปรากฏว่ารัฐบาล และ คสช. ได้ดำเนินการอะไร เพื่อแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ซึ่งเกิดจากการแข่งขันที่จำกัดของผู้ประกอบการเพียง 3 ราย คือ AIS, DTAC และ True Move เช่น ไม่ได้แก้ไขกฎหมายให้มีการเปิดเสรีตลาดโทรคมนาคมเพื่อให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ และไม่ได้แก้ปัญหาธรรมาภิบาลของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. มีแต่เร่งผลักดันกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องดังกล่าวและเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิของประชาชน.-สำนักข่าวไทย
ขอบคุณที่มาและภาพประกอบจาก : TNN24
Add One