แพทย์เตือนหากนอนกรน-นอนไม่หลับ อาจเสี่ยงก่อโรคสารพัด อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แนะควรนอนให้ได้วันละ 6-8ชั่วโมง
นายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทั่วโลกพบปัญหาการนอนหลับกว่าร้อยละ 10-15 ส่วนประเทศไทย มีปัญหาป่วยจากการนอนในอัตรา 7 ต่อ 100 คน ส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน ซึ่งการนอนไม่พอส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เกิดภาวะหลงลืม ปัญหาการนอนเกิดหลายรูปแบบ ทั้งการนอนกรน การนอนไม่หลับ ซึ่งการนอนกรนก็ถือเป็นภัยเงียบที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะเกิดจากภาวะทางเดินหายใจตีบ ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย มีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในร่างกาย ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดและเกิดผลเสียต่อระบบต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต และเสียชีวิต
จากสถิติทั่วโลกพบว่าโรคดังกล่าวจะเป็นมากในผู้ชายเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4 ผู้หญิงร้อยละ 2 สำหรับวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคที่เป็น ซึ่งบางกรณีสามารถแก้ไขได้ทันที อาทิ เรื่องน้ำหนักตัว นอนตะแคง นอนหนุนหมอนหรือยกหัวเตียงสูงหลีกเลี่ยงการับประทานยานอนหลับ การดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะช่วง 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เลิกสูบบุหรี่ แต่บางกรณีก็ไม่สามารถแก้ไขได้ต้องใช้เครื่องอัดอากาศแรงดัน คู่กับการใช้ยาและผ่าตัดขยายทางเดินหายใจ ซึ่งอาการนอนไม่หลับจนไม่สามารถทำกิจกรรมปกติได้ในช่วงกลางวันนั้นเกิดจากการนอนไม่เป็นเวลา และการใช้ยานอนหลับ จนพฤติกรรมการนอนเปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังเพราะจะส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น ก่อให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกับเครื่องจักร คนขับรถ ถือเป็นอาการที่พบเจอบ่อยที่สุด โดยทั่วโลกพบถึงร้อยละ 10
ขอบคุณที่มาและภาพประกอบจาก: TNN24
Add One