สพฉ. แนะวิธีดูบอลโลกให้ปลอดโรค เลี่ยงอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เตือนห้ามอดนอนโดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว เหตุยิ่งลุ้น–ยิ่งเครียดเสี่ยงหลอดเลือดในสมองแตก–หัวใจวาย
วันนี้(19มิ.ย.57)สืบเนื่องจากกรณีที่มีข่าวแฟนบอลชาวจีนอดนอนดูการแข่งขันฟุตบอลโลกเวิลด์คัพ 2014 ที่ถ่ายทอดสดจากประเทศบราซิล จนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 ราย เนื่องจากช่วงเวลาที่ชาวจีนได้ชมการถ่ายทอดสดจะแตกต่างจากเวลาของประเทศบราซิลนั้น รอ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ออกมาแนะนำถึงกรณีการดูฟุตบอลโลกอย่างปลอดภัยกับแฟนบอลชาวไทยว่า การดูฟุตบอลนั้นถือเป็นการผ่อนคลายได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเมื่อเราดูกีฬาก็จะทำให้เราอยากไปออกกำลังกายซึ่งจะทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่สำหรับกรณีของฟุตบอลโลกเวลาของการถ่ายทอดสดจะเหลื่อมกับเวลาของประเทศไทย เพราะประเทศบราซิลที่เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันอยู่คนละซีกโลกกับประเทศไทย จึงทำให้แฟนบอลต้องอดนอนเพื่อที่จะติดตามชมฟุตบอล เพราะแต่ละคู่จะถ่ายถอดสดในเวลาที่ดึกมาก
การนอนน้อย การพักผ่อนน้อยจะส่งผลเสียต่อร่างกายในหลายเรื่อง โดยเฉพาะหากมีการเล่นการพนันควบคู่ไปด้วยก็จะยิ่งทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ นอกจากนี้หากมีโรคประจำตัวเป็นโรคความดัน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคลมชักหรือโรคทางสมองอื่นๆ จะยิ่งมีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยฉุกเฉินมากขึ้น ดังนั้นการชมฟุตบอลโลกให้มีความสุขและปลอดภัยนั้น แฟนบอลควรจะเลือกชมเฉพาะคู่ที่ตัวเองสนใจ หรือเลือกดูเฉพาะวันหยุด หรือหากอยากดูจริงๆ ให้ใช้วิธีการบันทึกวีดีโอไว้แล้วมาดูย้อนหลังอีกครั้ง
รอ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวต่อว่า การดูฟุตบอลโลกหากเลือกดูทุกคู่จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้ร่างกายไม่ปกติ เนื่องจากการดูจะต้องมีการลุ้นจนเครียด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมองอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ เพราะการลุ้นอาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก รวมทั้งบางครั้งการดูฟุตบอลอาจจะมีการสูบบูหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่ไปด้วย ก็จะยิ่งเป็นสิ่งกระตุ้นให้เพิ่มความเสี่ยงในการเจ็บป่วยฉุกเฉินมากขึ้นด้วย นอกจากนี้หากพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุด้วย เช่น การหลับในระหว่างการขับรถ แต่ทั้งนี้หากมีอาการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ แต่ทางที่ดีที่สุดคือควรดูแลตนเองให้ปลอดภัย และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตามสำหรับสถิติการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ สพฉ.ได้รับการแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1669 ในปี 2556 ได้ออกปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอาการเจ็บแน่นทรวงอกจากปัญหาด้านหัวใจมีจำนวน 24,252 ครั้ง จากอาการหายใจลำบากจำนวน 82,364 ครั้ง และจากอาการหัวใจหยุดเต้น 852 ครั้ง
Add One