สธ.เตือนประชาชนระวังโรคฉี่หนูระบาดหนักช่วงฤดูฝน พบเสียชีวิตแล้ว7ราย ขณะที่ยอดป่วย861ราย
วันนี้ (21ก.ค.57) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในฤดูฝนทุกปีมีหลายโรคที่มีแนวโน้มพบมากขึ้น เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ไข้เลือดออก รวมทั้งโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียเชื้อโรคนี้ทำให้เกิดโรคในคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น หนู สุนัข แมว สุกร โค กระบือ ม้า แพะ แกะ ฯลฯ
โดยมีหนูเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ แต่สัตว์ต่างๆ อาจไม่แสดงอาการป่วย โดยเชื้อโรคจะอยู่ในฉี่ของสัตว์ เข้าสู่ร่างกายคนได้ทางบาดแผล รอยถลอกต่างๆ โรคนี้แม้ว่ามียารักษาหาย แต่อาจทำให้เสียชีวิตได้ หากได้รับการดูแลรักษาไม่ถูกต้องหรือล่าช้า ซึ่งในฤดูฝน สภาพพื้นดินจะมีดินโคลนชื้นแฉะ มีแอ่งน้ำขังจำนวนมาก อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนได้ง่ายและเชื้ออยู่ในน้ำได้นาน
ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้ฉี่หนู ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -14 ก.ค. 2557 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ 861 รายใน61 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 7 ราย พบได้ทั้งผู้ที่อยู่ในชนบทและอยู่ในเมือง
กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือวัยแรงงงาน 25-54 ปีผู้ป่วยเป็นชายมากกว่าหญิงถึง 5 เท่าตัว กว่าครึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาคือรับจ้างทั่วไป เมื่อแยกเป็นรายภาค พบว่า 3 ใน 5 จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากร มากที่สุด อยู่ในภาคใต้ ได้แก่ สตูล ระนอง และยะลา ส่วนอีก 2 จังหวัดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กาฬสินธุ์ และศรีสะเกษ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ แต่อาจติดเชื้อและป่วยซ้ำได้อีก
ด้านนพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการป้องกันโรคไข้ฉี่หนูในช่วงหน้าฝน ซึ่งบางพื้นที่อาจมีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมมีคำแนะนำดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะเป็นเวลานานโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานที่มีปัญหาชาที่เท้าต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเนื่องจากอาจมีแผลที่เท้าและไม่รู้สึกเจ็บมีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง
2.ผู้ที่ต้องทำงานที่เสี่ยงต่อโรค เช่น ชาวสวน ชาวนา คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ ขอให้สวมถุงมือยาง ใส่รองเท้าบู๊ตยาง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
3.หมั่นล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายหลังจากเสร็จภารกิจทำงาน
4.กำจัดขยะในบ้านเรือน สถานที่ทำงานให้สะอาด โดยเฉพาะเศษอาหารเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูและ
5.ดื่มน้ำต้มสุกและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกร้อนใหม่ๆ
ขอบคุณที่มาและภาพประกอบจาก : TNN24
Add One