คนเอือมระอาTAXI ปฎิเสธรับผู้โดยสาร อ้างแก๊สหมด

Written on:July 22, 2014
Comments
Add One

นิด้าโพลชี้คนไม่พอใจโชว์เฟอร์TAXIปฎิเสธรับผู้โดยสาร ชอบอ้างไปส่งรถ-แก๊สหมด แนะใช้กฏหมายเอาผิดจริงจัง

วันนี้ (22ก.ค.57) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความในใจของผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ : แนวทางสู่การปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะ” จากประชาชนที่ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ รถแท็กซี่มิเตอร์ ในเขต กทม. และปริมณฑล กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,257 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับปัญหาในการใช้บริการรถแท็กซี่ การปรับอัตราค่าโดยสาร และแนวทางการแก้ไขปัญหาในการให้บริการ

พบว่า ผู้ที่เคยใช้บริการรถแท็กซี่มิเตอร์ส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.12 ระบุว่า เป็นการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร เลือกผู้โดยสาร โดยชอบอ้างว่าไปส่งรถ/แก๊สหมด/อยู่นอกเส้นทาง เลือกรับเฉพาะผู้โดยสารชาวต่างชาติ เป็นต้น รองลงมา ร้อยละ 12.72 ระบุว่า เป็นการขับรถไม่ถูกกฎจราจร ขับรถหวาดเสียว ขับปาดหน้า ขับฝ่าไฟแดง จอดซ้อนคัน

นอกจากนี้ ร้อยละ 11.98 ระบุว่า เป็นคนขับพูดจาหรือมีพฤติกรรมไม่สุภาพกับผู้โดยสาร หรือผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ ร้อยละ 10.09 ระบุว่า เป็นคนขับขาดความซื่อสัตย์สุจริต เช่น ทอนเงินไม่ครบ เรียกเก็บค่าโดยสารเกินกว่าอัตราที่ทางราชการกำหนด พาผู้โดยสารไปเส้นทางที่อ้อม ออกนอกเส้นทาง ร้อยละ 6.32 ระบุว่า เป็นสภาพรถเก่า ไม่สะอาด ประตูชำรุด แอร์ไม่เย็น เข็มขัดนิรภัยชำรุด ร้อยละ 4.91 ระบุว่า เป็นคนขับชอบพูดเรื่องการเมือง ร้อยละ 4.75 ระบุว่า ไม่เคยพบเจอปัญหาใดๆ ในการให้บริการ ร้อยละ 4.08 ระบุว่า ไม่จอดรับ–ส่ง ผู้โดยสารตามป้าย จอดรถเลยป้าย จอดรถรับ–ส่งผู้โดยสารในเลนกลาง ร้อยละ 2.04 ระบุว่า คนขับรถใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ร้อยละ 2.00 ระบุว่า คนขับชอบถามเรื่องส่วนตัวผู้โดยสาร และร้อยละ 6.99 ระบุว่า อื่นๆ เช่น คนขับดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ขณะขับรถ มีพฤติกรรมส่อเจตนาไปทางการก่ออาชญากรรม หรือการล่วงละเมิดทางเพศ ไล่ผู้โดยสารลงกลางทาง สภาพคนขับไม่พร้อม บัตรประจำตัวคนขับไม่ตรงกัน ไม่ชำนาญเส้นทาง พูดเรื่องส่วนตัว เปิดวิทยุเสียงดัง

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีการยอมจ่ายอัตราค่าโดยสารที่สูงขึ้น หากมีการบริการรถแท็กซี่มิเตอร์พิเศษ (VIP) เช่น รถแท็กซี่เฉพาะผู้หญิง (Lady Taxi) หรือรถแท็กซี่ที่มีขนาดรถใหญ่ขึ้น คนขับแต่งกายและพูดจาสุภาพ สามารถพูดภาษาต่างประเทศได้ ไม่ปฏิเสธรับผู้โดยสาร ไม่ว่าจะไปที่ไหนหรือช่วงเวลาใด และมีการให้บริการที่ดีขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.44 ระบุว่า ยินดีที่จะจ่ายค่าโดยสารสูงขึ้น รองลงมา ร้อยละ 20.21 ระบุว่า ไม่ยินดีที่จะจ่ายค่าโดยสารที่สูงขึ้น ขณะที่ ร้อยละ 1.35 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ ต้องทดลองใช้บริการก่อนว่าจะได้รับการบริการคุ้มค่ากับอัตราค่าโดยสารที่จ่ายเพิ่มขึ้นหรือไม่

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อสิ่งที่ต้องการให้พัฒนาในด้านการบริการของคนขับรถแท็กซี่ในด้านต่างๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 19.12 ระบุว่า ต้องการให้มีการพัฒนาในเรื่องของการไม่ปฏิเสธรับผู้โดยสาร ไม่เลือกผู้โดยสาร ไม่เห็นแก่ได้ รองลงมา ร้อยละ 17.25 ระบุว่า เป็นความมีระเบียบวินัยในการขับรถ เคารพและปฏิบัติตามกฎจราจร ร้อยละ 16.98 ระบุว่า เป็นการพูดจาและพฤติกรรมที่สุภาพ กับทั้งผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ ร้อยละ 8.88 ระบุว่า เป็นการแต่งกายของคนขับที่ดูดี สะอาดสะอ้าน มีความพร้อมในการให้บริการ ร้อยละ 8.31 ระบุว่า เป็นความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ ไม่เอาเปรียบผู้โดยสาร ร้อยละ 6.29 ระบุว่า เป็นการเอาใจใส่ในสภาพความพร้อมของรถที่ให้บริการ

ส่วนร้อยละ 5.21 ระบุว่า เป็นการมีจิตสาธารณะในการให้บริการ ร้อยละ 4.28 ระบุว่า เป็นความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเส้นทาง ร้อยละ 4.22 ระบุว่า เป็นการจอดรับ–ส่ง ผู้โดยสารเฉพาะตามป้าย เลนในสุดเท่านั้น ร้อยละ 3.37 ระบุว่า ไม่มีพฤติกรรมที่ส่อเจตนาไปทางการก่ออาชญากรรม หรือการล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 3.07 ระบุว่า เป็นการละเว้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ขณะขับรถ ร้อยละ 0.99 ระบุว่า เนื่องจากคนขับแท็กซี่ที่บริการไม่ดี มีเป็นแค่บางส่วน/เป็นเฉพาะบุคคลเท่านั้น ในภาพรวมถือว่าดีอยู่แล้ว จึงยังไม่เห็นด้านที่ควรพัฒนา และร้อยละ 2.02 ระบุว่า อื่นๆ เช่น ความปลอดภัยของผู้โดยสาร การตรวจสอบประวัติของคนขับ ป้ายทะเบียนประจำตัวผู้ขับที่ไม่ตรงกัน ความเชี่ยวชาญในด้านเส้นทาง มีจุดเรียกบริการแท็กซี่โดยเฉพาะ การลดราคาเชื้อเพลิง รวมไปถึงทักษะ การป้องกันตัวของคนขับที่เกิดจากการก่ออาชญากรรม

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอแนะ หรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาการให้บริการรถแท็กซี่มิเตอร์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 19.87 ระบุว่า ควรบังคับใช้กฎหมายการกระทำผิดอย่างจริงจังและเข้มงวด รองลงมา ร้อยละ 19.83 ระบุว่า ควรตรวจสอบประวัติและมีการคัดเลือกผู้ขับขี่อย่างเข้มงวด ร้อยละ 17.37 ระบุว่า ควรปลูกฝังด้านคุณธรรม จริยธรรม มารยาท วินัยในการขับขี่และการให้บริการ ร้อยละ 14.32 ระบุว่า ควรมีการอบรมผู้ขับขี่ทุก 1–2 ปี ร้อยละ 14.05 ระบุว่า ควรกำหนดบทลงโทษการกระทำผิดของผู้ขับขี่รถบริการสาธารณะให้สูงกว่าผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลธรรมดา ร้อยละ 4.96 ระบุว่า ผู้ขับขี่รถบริการสาธารณะต้องผ่านการอบรมการขับขี่รถสาธารณะไม่น้อยกว่า 1 เดือน / 3 – 6 เดือน / ไปจนถึง 1 ปี

ขณะที่ร้อยละ 4.61 ระบุว่า ควรกำหนดอายุของผู้ขับขี่ โดยมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (อายุผู้ขับเฉลี่ย 27.24 ปี) ร้อยละ 2.97 ระบุว่า อื่นๆ ได้แก่ มาตรการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารและคนขับ เช่น มีระบบ GPS ระบุตำแหน่งรถ การตรวจสอบประวัติคนขับ ป้ายประจำตัวผู้ขับที่ตรงกับคนขับ เพิ่มความเข้มงวดในการออกใบอนุญาตขับขี่ กำหนดระดับการศึกษาของผู้ที่จะขับรถแท็กซี่ ให้จบการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น/เทียบเท่า ขึ้นไป ควบคุมอายุการใช้งานของรถแท็กซี่ ควรจัดระเบียบสีแท็กซี่ใหม่ มีจุดเรียกใช้บริการรถแท็กซี่โดยเฉพาะ และ ร้อยละ 2.03 ไม่มีข้อเสนอแนะ ไม่มีความคิดเห็น

 

 

 
ขอบคุณที่มาและภาพประกอบจาก : TNN24

 


   ข่าวอื่นๆที่น่าสนใจ

น้องแต้ว
น้องแต้วเข้าเยี่ยมคารวะผบ.ทบ.เผยตั้งใจรับราชการทหาร

ขังหมาในรถดิ้นกัดลิ้นเลือดอาบ

พาณิชย์เผยราคาสินค้าเปลี่ยนแปลง-ผักชีลงกก.ละ20บ.

ททท.กังวลเงินฝืดกระทบท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง

สลด!เก๋งยางแตกพลิกคว่ำ ดับ1ราย

“พุทธะอิสระ”ยื่นป.ป.ช.ตรวจสอบมส.ปมธัมมชโย

Leave a Comment

Your email address will not be published.