ปภ.แนะข้อควรระวังในการตรวจสอบและดูแลรถด้วยตนเอง เพื่อช่วยป้องกัน-ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
วันนี้(9 ก.พ.58) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรระวังในการตรวจสอบและดูแลรถด้วยตนเอง โดยเติมน้ำกลั่นแบตเตอรี่ในระดับที่กำหนด ห้ามเปิดฝาหม้อน้ำในขณะที่เครื่องยนต์ร้อนจัด เปลี่ยนยางรถยนต์ โดยรองล้อให้เรียบร้อยก่อนใช้แม่แรง จัดวางแม่แรงให้ถูกตำแหน่ง เพื่อป้องกันรถหล่นมาทับ ตรวจสอบช่วงล่างของรถ ห้ามมุดใต้ท้องรถในขณะที่ยกรถขึ้นด้วยแม่แรงเพียงอย่างเดียว ควรใช้ที่ตั้งนิรภัยค้ำไว้ รวมถึงห้ามตรวจสอบเครื่องยนต์ในขณะที่สตาร์ทเครื่องยนต์ จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการตรวจสอบและดูแลสภาพรถไม่ถูกวิธี
ขณะที่นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า แม้ผู้ขับขี่จะมีความพร้อมในการขับรถ แต่บางครั้งอาจเกิดเหตุฉุกเฉินจากความบกพร่องของส่วนประกอบรถ การเรียนรู้วิธีตรวจสอบและดูแลรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อความปลอดภัย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะข้อควรระวังในการตรวจสอบและดูแลรถ ดังนี้ เติมน้ำกลั่นแบตเตอรี่ในระดับที่กำหนด หลีกเลี่ยงการทำให้เกิดประกายไฟขณะเติมน้ำกลั่น อาทิ จุดไฟแช็ก สูบบุหรี่ ระวังไม่ให้น้ำกรดแบตเตอรี่สัมผัสถูกผิวหนังและตาเพราะอาจทำให้แผลพุพองและตาบอดได้ เติมน้ำในหม้อน้ำ ห้ามเปิดฝาหม้อน้ำในขณะที่เครื่องยนต์ยังร้อนจัด เพราะอาจได้รับอันตรายจากแรงดันน้ำที่พุ่งออกมา ควรรอให้เครื่องยนต์เย็นลงก่อนจึงค่อยเปิดฝาหม้อน้ำ เติมน้ำเปล่าหรือน้ำยาหล่อเย็น เปลี่ยนยางรถ ก่อนใช้แม่แรงควรรองล้อให้เรียบร้อย
เพื่อป้องกันรถไหล คลายน็อตล้อก่อนยกรถ เพราะการขันคลายน็อต ระหว่างรถอยู่บนแม่แรงต้องใช้แรงมากพอสมควร อาจทำให้รถเคลื่อนตัว ทำให้ได้รับบาดเจ็บ ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ให้ถูกวิธี จัดวางแม่แรงให้ถูกตำแหน่ง เพื่อป้องกันรถหล่นลงมาทับ พร้อมตรวจสอบการขันน็อตล้อรถให้แน่น จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุล้อรถหลุด หากไม่มีทักษะหรือประสบการณ์ในการเปลี่ยนยางรถ ควรแจ้งให้ช่างผู้ชำนาญการมาดำเนินการ ตรวจสอบช่วงล่างของรถควรจอดรถบนพื้นราบ เลื่อนเกียร์ไปตำแหน่ง P ดึงเบรกมือ และหาที่กั้นล้อรถไว้ เพื่อป้องกันรถไหลมาทับ ห้ามมุดใต้ท้องรถใน
ขณะที่ยกรถขึ้นด้วยแม่แรงเพียงอย่างเดียว ควรใช้ที่ตั้งนิรภัยค้ำไว้ เพื่อป้องกันรถหล่นลงมาทับ ตรวจสอบเครื่องยนต์ ดับเครื่องทุกครั้งก่อนตรวจสอบเครื่องยนต์ ห้ามตรวจสอบในขณะที่สตาร์ทเครื่องยนต์ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ สำหรับการตรวจสอบเครื่องยนต์ที่จำเป็นต้องสตาร์ทเครื่อง ควรเพิ่มความระมัดระวังมิให้เสื้อผ้าหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเข้าใกล้ใบพัด สายพาน หรืออุปกรณ์ส่วนอื่นที่กำลังทำงาน จะทำให้ได้รับอันตรายได้ ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีตรวจสอบและดูแลรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการตรวจสอบและดูแลสภาพรถอย่างไม่ถูกวิธี
ขอบคุณที่มาและภาพประกอบจาก : TNN24
Add One