พาณิชย์เร่งปรับแผนการส่งออกตั้งแต่ไตรมาส2 เน้นพัฒนาสินค้าให้ตรงกลุ่มตลาดเป้าหมาย
วันนี้ (14พ.ค.58) รายงานจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ระบุว่า หลังจากที่กระทรวงฯ ปรับลดเป้าหมายการส่งออกปี 2558 ใหม่ จากเดิมตั้งเป้าขยายตัวร้อยละ 4 มูลค่า 2.36 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเหลือขยายตัวร้อยละ 1.2 มูลค่า 2.30 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลให้ต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายการส่งออกรายตลาดใหม่ โดยตลาดที่มีการ ปรับลดคาดการณ์ใหม่จากเดิมที่มีอัตราขยายตัวเป็นบวกเปลี่ยนเป็นติดลบประกอบด้วย ตลาดอาเซียนเดิม (มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย) เดิมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.4 ติดลบร้อยละ 0.9, ตลาดจีน เดิมขยายตัวร้อยละ 1 ติดลบร้อยละ 5, ญี่ปุ่นเดิมขยายตัวร้อยละ 2 ติดลบร้อยละ 5
ส่วนตลาดที่จะไม่ติดลบแต่ต้องปรับลดอัตราขยายตัวลงประกอบด้วย อาเซียน(9) จากเดิมขยายตัว ร้อยละ 4.7 ลดเหลือร้อยละ 3.1 ,เกาหลีใต้ เดิมขยายตัวร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 0 ,ตะวันออกกลาง เดิม ขยายตัวร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2 , ทวีปออสเตรเลีย เดิมขยายตัวร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3, สหภาพยุโรป เดิมขยายตัวร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2
ส่วนตลาดที่มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ทวีปอเมริกา (สหรัฐฯ และแคนาดา) เดิมเป้าขยายตัวร้อยละ 2.9 เพิ่มเป็นร้อยละ 3, ตลาดอาเซียนใหม่(CLMV) เดิมขยายตัวร้อยละ 10.5 เพิ่มเป็นร้อยละ 10.6 ส่วนตลาดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงได้แก่ เอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 5 ,ทวีปแอฟริกาขยายตัวร้อยละ 2 , ลาตินอเมริกาขยายตัวร้อยละ 2
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ประชุมผู้ประกอบการรายสินค้า 12 กลุ่มเสร็จสิ้นแล้วและได้เสนอให้พลเอก.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พณ. พิจารณา โดยแผนส่วนใหญ่จะจัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปยังประเทศเป้าหมายเพื่อพบเจรจากับผู้ซื้อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดการส่งออกได้ในระยะต่อไป
นอกจากนี้ หากจำเป็นต้องใช้การเจรจาระดับรัฐมนตรี ทั้งการเปิดตลาด หรือแก้ไขปัญหาการส่งออกก็จะเสนอให้รมว.พณ. หรือรมช.พณ. หรือปลัดพณ.เป็นหัวหน้าคณะไปเจรจากับประเทศเป้าหมาย
สำหรับอุปสรรคการส่งออกที่ภาคเอกชนแต่ละกลุ่มสินค้าเสนอมากรมจะรวบรวมเสนอให้รมว.พณ. พิจารณาเช่นเดียวกัน หากสามารถแก้ไขในระดับกระทรวงได้ก็จะดำเนินการทันที หรือหากเกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาสั่งการ
ทั้งนี้ เป้าหมายการส่งออกรายตลาด เป็นไปตามนโยบายของรมว.พณ. เรื่องการกระจายความเสี่ยง เพิ่มตลาดส่งออกให้หลากหลาย เพื่อแก้ปัญหากรณีตลาดใดตลาดหนึ่งเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะปัญหาการส่งออกไม่ได้เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่น เช่น การคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในและผลกระทบจากราคาน้ำมันตลาดโลก
ส่วนแผนรองรับตลาดสำคัญๆ เช่นญี่ปุ่น ได้ผลักดันสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สินค้าอุตสาหกรรมยานยนต์ สิ่งทอ พร้อมเร่งสร้างภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของอาหารไทยผ่านสื่อออนไลน์ ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ เน้นผลักดันสินค้ามูลค่าเพิ่ม เช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเพื่อสุขภาพ เน้นช่องทางโมเดิร์นเทรด รวมทั้งเจาะกลุ่มลูกค้าโรงแรม ธุรกิจเรือสำราญ ร้านอาหารและภัตตาคาร
สำหรับตลาดอินเดีย เน้นใช้กลไกความร่วมมือสร้างความสัมพันธ์ทั้งแบบรัฐต่อรัฐ รัฐกับเอกชน โดยจัดประชุมความร่วมมือธุรกิจระหว่างสภาอุตสาหกรรมไทยและอินเดีย ขยายตลาดเมืองรองในอินเดีย เน้นสินค้าอาหารและวัสดุก่อสร้าง
ขอบคุณที่มาและภาพประกอบจาก : TNN24
Add One