ปภ.แนะวิธีปเลี่ยงถูกฟ้าผ่าช่วงเกิดฝนคะนอง งดใส่เครื่องประดับที่สื่อนำไฟฟ้า ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ-เครื่องใช้ไฟฟ้า
วันนี้ (7ก.ค.57) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีสภาพอากาศแปรปรวน จึงเป็นช่วงที่มีสถิติผู้ได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าจำนวนมาก เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ขอแนะวิธีปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากฟ้าผ่า ดังนี้
-กรณีอยู่ในพื้นที่โล่ง ควรหลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้งในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะสระน้ำ ทะเล ชายหาด สนามกอล์ฟ ทุ่งนา ภูเขาสูง เพราะเป็นพื้นที่ที่มีผู้ถูกฟ้าผ่าบ่อยครั้ง
-ไม่สวมใส่เครื่องประดับที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า อาทิ เงิน ทอง นาก ทองแดง รวมถึงอยู่ให้ห่างจากวัตถุที่เป็นโลหะ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
-ไม่หลบพายุใต้ต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่อยู่สูงโดดเด่น ใกล้ป้ายโฆษณา วัสดุคอนกรีต เสาไฟฟ้าแรงสูงและสิ่งปลูกสร้างที่มีโครงสร้างเป็นโลหะ เพราะฟ้ามักผ่าลงที่สูงและบริเวณที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า
-งดเว้นการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์สาธารณะในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากโทรศัพท์มีแผ่นโลหะเป็นส่วนประกอบ สายอากาศและแบตเตอรี่เป็นสื่อล่อฟ้า จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า กรณีอยู่ในอาคารไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า โดยเฉพาะดาดฟ้า บริเวณมุมตึก ระเบียงหรือด้านนอกอาคาร ใกล้หน้าต่างที่เป็นโลหะ เนื่องจากเป็นพื้นที่โล่งและที่สูง รวมถึงโลหะยังเป็นสื่อนำไฟฟ้า จึงมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากฟ้าผ่ามากกว่าพื้นที่อื่นๆ
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากฟ้าผ่า ไม่เปิดโทรทัศน์ในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะฟ้าอาจผ่ามาที่เสาอากาศนอกบ้าน ทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจร ส่งผลให้อุปกรณ์เสียหายและผู้ใช้งานได้รับอันตราย รวมถึงไม่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่น ไม่เล่นอินเทอร์เน็ต ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือขณะชาร์จแบตเตอรี่เพราะมีแผ่นโลหะซึ่งเป็นสื่อล่อฟ้าเป็นส่วนประกอบ หากฟ้าผ่า กระแสไฟฟ้าอาจไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสื่อนำไฟฟ้าต่างๆ ทำให้ได้รับอันตรายได้
“กรณีขับรถ ควรจอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย เพราะหากฟ้าผ่าบริเวณใกล้เคียงกับที่รถขับผ่าน จะทำให้ยางระเบิด ก่อให้เกิดอันตรายได้ หลีกเลี่ยงการจอดรถหลบฝนใต้ต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ โดยเฉพาะป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้าแรงสูง เพราะฟ้ามักผ่าในบริเวณดังกล่าว รวมถึงหลบพายุฝนฟ้าคะนองในรถ ห้ามลงจากรถหรือยื่นอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดออกจากรถอย่างเด็ดขาด เพราะกระแสไฟฟ้า จะไหลไปตามผิวโลหะของตัวถังรถลงสู่พื้นดิน ทำให้ได้รับอันตรายได้ การอยู่ภายในห้องโดยสารรถจึงปลอดภัยที่สุด” นายฉัตรชัย กล่าว
ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากฟ้าผ่าในสถานที่ต่างๆ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้
ขอบคุณที่มาและภาพประกอบจาก : TNN24
Add One