ผู้ว่าธปท.แนะ3ทางออกกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เชื่อปีหน้าขยายตัวดีขึ้นแน่นอน
วันนี้ (11ธ.ค.57) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 58 ว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมในช่วงที่ผ่านมา ไม่ค่อยดีนัก การเติบโตของประเทศเศรษฐกิจหลักมีความแตกต่างกันมาก โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อยๆ ฟื้นตัวแข็งแรงขึ้น ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ได้ประกาศยุติการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) แต่ยังคงใช้นโยบายทางการเงินผ่อนคลายต่อไป
สำหรับเศรษฐกิจกลุ่มยูโร มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่ยังเปราะบาง เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมิน ด้านเศรษฐกิจจีนขยายตัวชะลอลง แต่หลังจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ธนาคารกลางจีนให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ดังนั้น เศรษฐกิจโลกในปีหน้า จะยังไม่เติบโตมากมายนัก ภาคการส่งออกในปีหน้าคงช่วยดึงเศรษฐกิจไทยขึ้นได้บ้างแต่ไม่มาก จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากกำลังซื้อและการใช้จ่ายในประเทศเองมากขึ้น
ขณะที่เศรษฐกิจไทยก็เหมือนคนป่วยที่เพิ่งออกจากไอซียูได้เมื่อกลางปี ในช่วงครึ่งหลังของปี เหมือนคนไข้ที่ต้องฟื้นฟูร่างกาย โดยเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 เติบโตได้ 0.6% จากปีก่อน
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังคงเปราะบาง แม้ดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำและการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่จะหวังพึ่งการอัดฉีดจากภาครัฐทางเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะภาครัฐมีการใช้จ่ายคิดเป็นเพียง 15% ของจีดีพีเท่านั้น จึงต้องอาศัยการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนช่วย
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2558 น่าจะอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูร่างกายเพื่อให้แข็งแรง แต่ถ้าจะให้เติบโตต่อเนื่องก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมโดยปฏิรูปโครงสร้างด้านการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ โดยยืนยันว่า เศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวดีขึ้นอย่างแน่นอน แต่ไม่ต้องการให้มองตัวเลขว่าขยายตัว 4-5% ของจีดีพี แต่อยากให้มองการเติบโตของประเทศใน 5-10 ปีข้างหน้าอย่างยั่งยืน
สำหรับหน้าที่ของ ธปท.ในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การใช้กรอบนโยบายการเงินที่ยืดหยุ่น โดยปีหน้านี้ตลาดการเงินโลกอาจมีความผันผวนเพิ่มขึ้น สหรัฐฯมีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ญี่ปุ่นและกลุ่มยูโรจะยังคงผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยต่อไป เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอาจไหลเข้าสหรัฐฯมากขึ้น
ทั้งนี้ ธปท.เชื่อว่าการใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการยังจะช่วยป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทได้ ด้านที่ 2.การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพภาคการเงินเพื่อสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริง โดยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไม่มีการเก็งกำไรราคาสินทรัพย์ต่างๆ ที่มากจนเกินไป และด้านที่ 3.การผลักดันให้เกิดการปฏิรูปด้านโครงสร้างเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งต้องรีบแก้ไขใน 3 ด้านด้วยกันคือเรื่องคน เรื่องทุนและเรื่องนวัตกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศ ภายใต้โจทย์ที่หนึ่ง คือจะพัฒนาแรงงานไทยอย่างไร โจทย์ที่สอง คือการเร่งพัฒนาทุนอย่างไร ซึ่งหากแก้ไขได้ทั้งเรื่องคน เรื่องทุนและเรื่องนวัตกรรม เชื่อว่าไทยจะสามารถยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจให้สูงขึ้นได้
ขอบคุณที่มาและภาพประกอบจาก : TNN24
Add One