วันอนามัยโลกปีนี้เน้น “ความปลอดภัยด้านอาหาร” เพราะที่ผ่านมาพบการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพประชาชนทั่วโลก
วันนี้(7 เม.ย.58) องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 7 เมษายนของทุกปี เป็น “วันอนามัยโลก” เพื่อรณรงค์ให้ประเทศสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญในการควบคุม ป้องกัน แก้ปัญหาและส่งเสริมสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยปีนี้เน้นเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนส่งถึงมือผู้บริโภค ภายใต้แนวคิด “จากฟาร์มถึงจาน อาหารปลอดภัย” เพราะที่ผ่านมาพบการปนเปื้อนเชื้อโรค หรือสารเคมีอันตรายในอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพประชากรทั่วโลก
การเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกกว่า 351,000 คนที่เกี่ยวข้องกับไวรัสและโปรโตรซัวที่ปนเปื้อนมากับอาหาร รวมทั้งประชากรอีกกว่า 528 ล้านคนที่มีภาวะติดเชื้อในลำไส้ คือผลการวิจัยล่าสุดขององค์การอนามัยโลก ซึ่งสะท้อนภาวะการเจ็บป่วยจากการบริโภคอาหารไม่ปลอดภัย โดยมีการปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อาหารยุคใหม่
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหาร ตั้งแต่กระบวนการผลิตจัดจำหน่ายข้ามพรมแดน จนอาหารถึงมือผู้บริโภค เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชากรโลกและลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยดำเนินงานตามหลัก 5 ประการอาหารปลอดภัย คือ รักษาความสะอาด, แยกอาหารปรุงเสร็จแล้วออกจากอาหารสด, ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง, เก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม, ใช้น้ำและวัตถุดิบที่ปลอดภัยในการปรุงอาหาร ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนเป็นสำคัญ
นอกจากการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในอาหารที่จำหน่ายตามท้องตลาดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความพิถีพิถันเรื่องการรับประทานอาหารปลอดภัยและเพื่อสุขภาพ ยังเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยตื่นตัวมากขึ้น โดยวิธีการที่ได้รับความนิยม คือการเน้นปรุงอาหารรับประทานเองภายในครัวเรือน บริโภคเนื้อสัตว์ ผักผลไม้อินทรีย์และปลอดสารพิษ ผ่านกระบวนการปรุงแต่งน้อยที่สุดเพื่อคงคุณค่าทางสารอาหารและสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคเอง
ขณะที่ต้นทางของห่วงโซ่อาหาร คือเกษตรกร เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลิตอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้ เช่น การปลูกข้าว ผัก และผลไม้แบบเกษตรอินทรีย์ ที่เน้นเรื่องคุณภาพผลผลิตและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก
Add One