กทม.เตรียมมาตรการเข้มรับมือเมอร์ส จัดชุดเคลื่อนที่เร็วติดตามปชช.ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์
วันนี้ (23 มิ.ย. 58) กรุงเทพมหานคร(กทม.) เตรียมมาตรการเฝ้าระวังสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปแสวงบุญ ณ ประเทศตะวันออกกลาง เพื่อรับมือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง(เมอร์ส) ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่าในเดือนก.ค.นี้ จะมีประชาชนในกทม.เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ประมาณ 1,000 คน จึงให้สำนักอนามัยเก็บข้อมูลผู้ที่จะเดินทาง ทั้งที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เพื่อติดตามอาการหลังเดินทางกลับมาจากการประกอบพิธีประมาณเดือนต.ค.ต่อเนื่อง 30 วัน รวมทั้งรณรงค์แจกแผ่นพับให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องการป้องกันตัวเองก่อนเดินทางไปประกอบ พิธีฮัจญ์
นอกจากนี้ได้แบ่งกลุ่มผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์เป็น 3 กลุ่มคือ 1. กลุ่มที่มีโรคประจำตัวซึ่งมีความเสี่ยงมาก 2.กลุ่มที่มีโรคบ้าง และ 3.กลุ่มที่ร่างกายแข็งแรง เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจติดตาม นอกจากนี้ได้กำชับให้คัดกรองผู้ป่วยในชุมชน โดยจะเริ่มจับตาในกลุ่มของแรงงานไทย นักเรียนที่ต้องเดินทางไปประเทศเสี่ยง รวมทั้งนักท่องเที่ยวซึ่งมาจากประเทศเสี่ยง หากมีกรณีที่สงสัยจะมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว 71 ทีม ดำเนินการติดตามผู้ป่วยจนพ้นระยะ 14 วันที่ต้องเฝ้าระวัง
ด้านนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังร่วมประชุม 4 หน่วยงาน คือกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทน 3 เหล่าทัพ และกรุงเทพมหานคร ถึงมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเมอร์สอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ พร้อมกันนี้ยังวางมาตรการรับมือในอนาคต โดยคาดว่าหากมีผู้ป่วย 1 คน ต้องมีผู้สัมผัสผู้ป่วย หรือมีความเสี่ยงสูง 50 คน ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีห้องแยกโรคความดันเป็นลบเพียงพอที่จะรองรับ แต่จะหารือกับกองทัพเพื่อให้จัดหาพื้นที่สังเกตอาการของผู้สัมผัสโรค ในกรณีที่พบการแพร่ระบาด ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ และโรงพยาบาลเอกชน เพื่อสร้างมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงการนำโรคติดต่ออันตรายเข้าประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางของผู้ป่วยจากแถบประเทศพื้นที่เสี่ยง ซึ่งยังต้องหารือกันในระดับนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป
พร้อมกันนี้ จะขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน ห้ามปฏิเสธรับผู้ป่วยต้องสงสัยเด็ดขาด หากพบอาการเข้าข่ายควรส่งต่อโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนในต่างจังหวัดได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอบรม-ทำความเข้าใจ ห้ามส่งคนไข้ หรือปัดคนไข้โดยพลการ หรือไล่คนไข้ไปรักษาที่อื่น หากส่งต่อผู้ป่วยไปที่อื่นโดยพลการ หรือพบแล้วไม่แจ้งจะมีความผิดต้องถูกจับปรับและจำคุก รวมทั้งสามารถปิดคลินิกสถานพยาบาลได้ทันที
Add One